eng
competition

Text Practice Mode

วัตถุประสงค์ของการลงโทษอาญา

created Sep 6th 2022, 14:16 by Narisg


4


Rating

88 words
34 completed
00:00
วัตถุประสงค์ของการลงโทษอาญา มีดังนี้
๑.เพื่อเป็นการแก้แค้นทดแทน
ถือเป็นหลักการลงโทษที่เก่าแก่ที่สุด ตามแนวคิดที่ว่า ผู้ใดลงมือกระทำการใดย่อมได้รับผลตอบแทนของการกระทำนั้น การลงโทษตามแนวคิดนี้จะได้ผลดีต่อเมื่อ "กระทำโดยรวดเร็วและรุนแรง" มิฉะนั้น ประชาชนจะขาดความเชื่อมั่นและคิดหาทางแก้แค้นด้วยตนเอง
๒.เพื่อเป็นการข่มขู่
กล่าวคือ เพื่อข่มขู่ผู้กระทำความผิดให้เกิดความเข็ดหลาบ ไม่กล้ากระทำความผิดซ้ำ และเป็นตัวอย่างให้คนทั่วไปเห็นว่า เมื่อกระทำความผิดแล้วจะต้องรับโทษ เพื่อคนทั่วไปที่ทราบจะได้เกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิดขึ้นบ้าง
การลงโทษตามวัตถุประสงค์นี้ มีลักษณะมองไปในอนาคตเพื่อขู่ไม่ให้มีการกระทำความผิด โดยในอดีตมักทำในที่สาธารณะ เช่น การยิงเป้าต่อหน้าประชาชน แต่การข่มขู่เช่นว่าหากมีมากเกินไปจะเกิดผลเสีย เช่น หากลงโทษผู้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ด้วยการตัดมือ อาจทำให้ผู้กระทำความผิดเลือกไปกระทำความผิดอื่นๆเพื่อดำรงชีพ เนื่องจากไม่มีมือไปประกอบอาชีพอย่างคนทั่วไป และทำให้เกิดความอับอาย จนไม่อาจอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้
๓.เพื่อเป็นการคุ้มครองสังคม ให้รอดพ้นจากภยันตรายในระหว่างที่ผู้กระทำความผิดถูกตัดขาดจากสังคม
การลงโทษตามแนวคิดนี้ได้แก่ การประหารชีวิต การจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกมีกำหนด ซึ่งช่วยคุ้มครองไม่ให้ผู้กระทำความผิดกลับมาก่อภัยต่อสังคมได้อีก
๔.เพื่อเป็นการปรับปรุงแก้ไขตัวผู้กระทำผิด
หลักการนี้มุ่งให้ผู้กระทำผิดกลับตัวเป็นผลเมืองดี เพราะการถูกจำคุกสุดท้ายก็ต้องถูกปล่อยตัว ไม่อาจจองจำได้ตลอดเนื่องจากจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณมหาศาล โดยทฤษฎีนี้เห็นว่า ไม่ควรใช้คำว่า "การลงโทษ" แต่ควรใช้คำว่า "การบำบัด" โดยลักษณะของการบำบัดนั้น จะไม่มีหลักของการแก้แค้นทดแทน เนื่องจากการทำให้ได้รับผลร้ายหรือความลำบาก ไม่น่าจะทำให้คนร้ายกลับกลายเป็นคนดีได้
เพื่อให้การบำบัดทำได้ผลดี จำเป็นต้องแยกประเภทผู้กระทำความผิดออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น ผู้มีอายุน้อยหรือผู้ใหญ่ ผู้กระทำความผิดครั้งเดียวหรือหลายครั้ง ผู้ที่กลับตัวได้หรือผู้ที่กลับตัวไม่ได้ โดยวิธีการบำบัดในระหว่างจองจำ อาจกระทำด้วยวิธีดังต่อไปนี้ ฝึกหัดอาชีพ ให้การศึกษา อบรมศาสนาศีลธรรม การรักษาพยาบาล
เมื่อแน่ใจว่าผู้นั้นกลับตัวเป็นคนดีแล้ว ก็ให้ปล่อยตัวโดยไม่ต้องคำนึงว่าได้รับโทษครบตามคำพิพากษาแล้วหรือไม่ ดังนั้นรัฐจึงต้องมีมาตราการปล่อยตัวก่อนครบกำหนด และมีมาตรการแก้ไขแนะนำ หรือจัดหาอาชีพให้ต่อไป
 
ปัญหาว่าทฤษฎีใดดีที่สุดในการลงโทษผู้กระทำความผิดอาญานั้น จะเห็นได้ว่าบางทฤษฎีก็มีความเห็นสอดคล้องกัน บางทฤษฎีก็มีความเห็นขัดแย้งกัน เช่น วิธีการแก้แค้นทดแทนหรือข่มขู่ จำเป็นต้องให้ผู้กระทำผิดได้รับความทุกข์ยากลำบาก แต่หากให้ทุกข์ยากมากเกินไป โอกาสที่จะกลับตัวเป็นคนดีย่อมน้อยลง ในกรณีแนวคิดการปรับปรุงแก้ไขตัวผู้กระทำผิด หากเขาสามารถกลับตัวเป็นคนดีแล้ว ย่อมไม่มีเหตุผลที่ต้องกักตัวไว้อีก จึงต้องปล่อยตัวไปทันที ซึ่งจะขัดแย้งกับทฤษฎีแก้แค้นทดแทนหรือข่มขู่ เช่น ทำผิดร้ายแรงแต่สามารถกลับตัวได้ทันที จึงต้องปล่อยตัวไปในทันที ย่อมไม่เกิดผลของการแก้แค้นทดแทนเลย
ดังนั้น การลงโทษจึงไม่อาจมุ่งแต่วัตถุประสงค์ด้านใดด้านหนึ่งได้ แต่ต้องพิจารณาประกอบกันไป

saving score / loading statistics ...